แด่ตัวฉันและเพื่อนผู้ร่วมเดินทาง

Mon Jam Sun Flowers Field Tropical Sakura

การหายไปของหนังสือพิมพ์

01:59:00 Unknown 0 Comments

ติดตาม





คนบ้านนอกอย่างเรารับข่าวสารจากวิทยุ FM และคำเล่าของเพื่อนบ้านมากที่สุด
(การหายไปของหนังสือพิมพ์ในสังคมบ้านผม จะว่าบ้านนอกก็เกรงว่า บ้านนอกที่อื่นจะแย้ง)

- เอารูปควายแถวบ้านมาฝาก -



ระหว่างการอ่านข่าวออนไลน์กับการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์พ่อกับแม่ได้รับข่าวทางไหนมากกว่ากัน
ไม่ทั้งสองทางทั้งสองตอบ

ครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายๆคนคงต้องสอบภาษาอังกฤษส่วนการเขียน ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาก ไม่เพียงแต่ความยากของภาษา การกลั่นกรองความคิดและการเรียงลำดับความคิดยังถือเป็นสิ่งสนับสนุนให้ยากขึ้นไปอีก ซึ่งเราจะกลั่นกรองความคิดออกมาได้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความรู้เดิมหรือความรู้พื้นฐาน (Background Knowledge) ที่เราได้เรียนหรือได้รู้มาก่อนที่จะมาตอบคำถามนั้นๆ

ผมนึกถึงคำถามที่ผมเจอตอนตอบข้อเขียนของภาษาอังกฤษ
ปัจจุบันดูเหมือนข่าวสารออนไลน์จะมีเพิ่มขึ้น ท่านคิดว่าในอนาคตสื่อออนไลน์จะแทนหนังสือพิมพ์หรือไม่

ด้วยความมี internet and wifi addiction ของผม ผมก็ตอบไปว่าอาจเป็นไปได้ พร้อมกับยกตัวอย่างมาแปะ ทั้งผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น มีความสะดวกสบายในการอ่านมากขึ้น หยิบมาอ่านที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องแบกหนังสือพิมพ์เป็นฉบับๆ สามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และเว็บข่าวบางเว็บอัพเดทข่าวเร็วกว่าหนังสือพิมพ์เสียอีก แม้คะแนนที่ได้จะไม่ได้สูงมากแต่ผมยิ้มกริ่ม ยกมุมปากในกระจกในห้องน้ำหลังทำข้อสอบแสดงความพอใจในคำตอบของตัวเองนิดๆ





 เมื่อได้โอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน ผมนึกสนุกนำคำถามมาถามพ่อแม่ โดยปรับคำถามนิดหน่อย
ระหว่างการอ่านข่าวออนไลน์กับการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์พ่อกับแม่ได้รับข่าวทางไหนมากกว่ากัน
ไม่ทั้งสองทางทั้งสองตอบ

ทำไมเป็นเช่นนั้นล่ะ

แม่บอกว่า คนรุ่นนี้ บ้านนอกเช่นนี้จะดูจะอ่านข่าวออนไลน์ยังไง อินเทอร์เน็ตยังใช้ไม่เป็นเลย โทรศัพท์ก็ยังเป็นรุ่นดึกดำบรรพ์อยู่

แม้จะมีบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์หลายบริษัทเค้ามาในตำบล รับแลกโทรศัพท์เก่ากับโทรศัพท์ให้ โดยมีข้อแม้ให้ใช้ซิมของบริษัท ซึ่งคงเป็นกลยุทธ์ในการรักษาลูกค้าเครือข่ายไว้ แต่หลายคนยังคงปฏิเสธ การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่ได้ถือเป็นของเล่นสำหรับคนรุ่นเก่า หากได้มาแต่ใช้ไม่เป็นก็ไม่รู้จะเอามาทำไม

ดังนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนรุ่นพ่อที่อาศัยอยู่บ้านนอกแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

หนังสือพิมพ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะหาได้สักเล่มต้องออกไปในเมืองไม่ก็ต้องขี่รถไปซื้ออีกตำบลซึ่งก็หลายกิโลเมตรอยู่เหมือนกัน
เรามันบ้านนอก...

เมื่อผมเป็นเด็ก จำได้ว่าแต่ละหมู่บ้านจะมีที่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่น่าเชื่อว่าหนอนหนังสือในหมู่บ้านก็ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน หลายคนเข้าไปอ่านข่าวหน้าหนึ่ง แล้วนำไปพูดให้คนฟัง ส่วนเด็กตัวเล็กๆอย่างพวกผม ก็เคยแอบไปตัดหนังสือพิมพ์เอารูปดารามาประกอบการเรียนบ่อยครั้ง เช่นตอนครูสั่งให้หารูปแล้วมาสร้างแผนภูมิครอบครัว จะไปหารูปที่ไหนได้ล่ะ แย่งตัดหนังสือพิมพ์กันยกใหญ่ (กลัวผู้ใหญ่บ้านและผู้ดูแลรู้ก็กลัว รีบตัดรีบหนี แต่มิวาย ตัดรูปดาราที่ตนชอบติดมือมาแปะผนังบ้านด้วย ผมเชื่อเหลือเกินว่าเด็กบ้านนอกรุ่นยี่สิบกว่าๆหรือสามสิบกว่าๆทำเหมือนกัน)

แต่ปัจจุบันไม่มีแม้แต่ที่แขวนหนังสือพิมพ์แล้ว






ลดอายุจากคนวัยห้าสิบกว่ากว่าอย่างพ่อ และวัยสี่สิบกว่า(ที่ยืนยันไม่ใช้สมาร์ทโฟน) จากการสังเกต วัยรุ่นอายุราวสามสิบถึงสี่สิบ (คนแถวบ้านชอบเรียกตนเองว่ายังเป็นวัยรุ่น) และพวกผู้นำหมู่บ้านก็เริ่มมีการใช้สามาร์ทโฟนมากขึ้น แต่ก็ยังงงๆกับฟังก์ชันในนั้นอยู่ อาจมีบ้างที่อ่านข่าวที่มีบางคนแชร์เข้าเฟสบุคเข้าไลน์ แต่คงไม่เยอะนัก

ต้องยอมรับผู้คนรับข่าวสารจากทีวีค่อนข้างเยอะ ในเวลากินข้าวเช้าและเย็นก็มักเปิดทีวีดูข่าวไปด้วย

แต่เมื่อคนบ้านนอกส่วนใหญ่ยังคงหาเช้ากินค่ำ ครั้นจะให้นั่งดูทีวีฟังข่าวสารทั้งวันคงเป็นไปไม่ได้

วิทยุ FM. เป็นอีกสื่อที่ฮอตฮิตขาดไม่ได้แม้ว่าบ้านไหนๆ เกือบทุกบ้านมีทรานซิสเตอร์เปิดฟังระหว่างทำงาน ข่าวสารก็ถูกสื่อออกมาให้ผู้รับสารได้รับฟังและคิด

นั่นเป็นสาเหตุให้พวกชาวบ้านไม่เคยตกเทรนด์ข่าวสารเลย

คนในหมู่บ้านรับรู้ข่าวแทบจะทุกเรื่อง ทั้งการเมือง กีฬา ดารา โดยเฉพาะเรื่องดราม่าต่างๆ เช่นนักท่องเที่ยวต่างชาติกินแล้วโวยวายไม่จ่ายตังค์เป็นต้น







อย่างที่กล่าว วัยรุ่นและพวกผู้นำอาจรับรู้ข่าวจากการอ่านข่าวออนไลน์ หลายคนดูข่าวจากทีวีและฟังวิทยุ แต่ข่าวเหล่านี้แพร่เร็วได้เร็วมาก

บ้านผมทำตะกร้าหวาย (เกือบทั้งหมู่บ้านทำตะกร้าหวาย)  เนื่องจากเป็นสินค้า OTOP รายได้หลักนอกจากทำเกษตรกรรมแล้วก็มาจากตะกร้าหวายนี่แหละ และแน่นอนจะทำอยู่บ้านคนเดียวมันก็กะไรอยู่ เหงา เบื่อ เลยเกิดการล้อมวงตะกร้าขึ้น แม่นั่นยกตูดมานั่ง ป้าโน่นปั่นจักรยานมาแวะ ยายโน้นเดินฮำเพลงพุ่มพวงเข้ามาแจม กลายเป็นวงใหญ่ขึ้น

ข่าวสารอยู่มาจากเว็บไซต์ไหนหรือทีวีช่องไหนไม่รู้ แต่เวทีตะกร้าหวายเป็นเวทีที่เปิดให้ผู้ประกาศข่าวสมัครเล่นมาทดลองหน้ากล้องกันได้อย่างสม่ำเสมอ (คงแนวเดียวกันกับแม่ค้าเลยกระมัง)

อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้รับมาจากโทรทัศน์ วิทยุ และมาจากออนไลน์บ้าง เราจะเห็นได้ยากมากที่ผู้คนจะบอกว่า เมื่อเช้าฉันอ่านหนังสือพิมพ์นี้มา มันบอกว่า…”


หนังสือพิมพ์เริ่มหายไปเสียแล้ว...
ไม่มีหนังสือพิมพ์ให้เด็กฉีกรูปไปแปะส่งงานครูอีกแล้ว...
ไม่มีหนังสือพิพม์ให้คนในชุมชนเคี้ยวหมากแล้วนั่งอ่านอีกแล้ว...
น่าเศร้าสำหรับหนังสือพิมพ์ เพราะดูเหมือนว่าเราทุกคนจะยอมรับได้กับการจากไป ไม่ได้โอดครวญโหยหามันอีกแล้ว ทุกคนมีทีวี วิทยุ วัยรุ่นและผู้นำมีสมาร์ทโฟน หนังสือพิมจึงพ์ยิ่งยากที่จะมีใครสักคนหยิบขึ้นมาอ่าน
น่าเศร้ากับน้องหนังสือพิมพ์เอ๋ย ที่ไม่ค่อยได้มีบทบาทนักในหมู่บ้านพี่...



You Might Also Like

0 ความคิดเห็น: